วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2553

บรรพชาเป็นสามเณร

     นับตั้งแต่ยายได้ถามความสมัครใจของหลานทั้งสองว่าจะบวชจนตลอดชีวิตแล้ว จึงได้แสวงหาบริขารสำหรับเพื่อบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อครบแล้วจึงได้นำหลานทั้งสองไปถวายตัวต่ออุปัชฌาย์ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าที่วัดโพธิ์ชัย ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านนาโป่ง เพื่อฝึกหัดขานนาคและรับบรรพชาเป็นสามเณรต่อไป เมื่อพ.ศ.2493 ขณะนั้นหลวงปู่แหวน มีอายุ 9 ปี และได้เปลี่ยนชื่อจากญาณ เป็น"สามเณรแหวน" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

     หลังจากเข้าพรรษาแล้วประมาณสองเดือน สามเณรซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าได้อาพาธอย่างหนักและมรณภาพในที่สุด ก่อให้เกิดความสะเทือนใจแก่ หลวงปู่แหวน เป็นอย่างมาก เพราะสามเณรนั้นเป็นทั้งญาติ เพื่อนเล่นในสมัยเด็ก และเป็นคู่นาคสมัยเมื่อบรรพชาเป็นสามเณร การพลัดพรากเป็นทุกข์อย่างมหันต์ ปุถุชนใดเลยจะสามารถหักห้ามใจได้ น้ำตาจึงเป็นเครื่องปลอบใจของ หลวงปู่แหวน ในยามเศร้าเช่นนี้ ก่อนที่จะจัดการศพสามเณร ยายได้พูดเตือนย้ำคำพูดเดิมของท่านอีกครั้งหนึ่งว่า "เณรๆ จะบวชไปจนตายกับผ้าเหลืองอย่างนี้ได้ไหม" ซึ่ง หลวงปู่แหวน ได้รับคำเช่นเดิม

     การบรรพชาที่วัดโพธิ์ชัยนั้นท่านไม่ได้ศึกษาอะไรเพราะไม่มีผู้สอน วันหนึ่งๆ จะมีการไหว้พระสวดมนต์บ้างและเล่นบ้างตามประสาเด็กที่มีเวลาว่างการศึกษาของหลวงปู่แหวน ตั้งแต่อยู่ในวัยเด็กจนบรรพชาเป็นสามเณรนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่าท่านได้รับการศึกษาอะไร เพราะการศึกษาในสมัยนั้นไม่แพร่หลายเหมือนปัจจุบัน ดังนั้นท่านจึงได้เดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อไปศึกษามูลกัจจายน์ เพราะมีสำนักเรียนหลายแห่ง โดยอาจารย์อ้วนซึ่งมีศักดิ์เป็นอา ได้นำไปฝากกับ พระอาจารย์สิงห์ ขนตฺยาคโร ศิษย์เอกสำคัญสูงสุดองค์หนึ่งของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์เอกทางวิปัสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงมากที่วัดบ้านสร้างถ่อ อำเภอเกษมสีมา จังหวัดอุบลราชธานี

     ขณะที่ท่านเดินฝ่าเปลวแดดมาหาพระอาจารย์สิงห์ อาจารย์สิงห์ได้เห็นนิมิตรปรากฏที่สามเณรแหวน เป็นแสงโอภาสออกจากร่างเยี่ยงผู้มีบุญญาธิการ อาจารย์สิงห์ล่วงรู้ด้วยอำนาจญาณโดยทันทีว่า สามเณรน้อยผู้นี้เป็นผู้มีบุญญาธิการมาเกิด จึงได้ถ่ายทอดวิชาให้จนหมดสิ้น

     ในสมัยนั้นอุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่มีการศึกษามูลกัจจายน์กันอย่างแพร่หลาย มีสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงหลายแห่งที่เป็นแหล่งผลิตครูอาจารย์ซึ่งจะสอนกันอย่างเป็นหลักเป็นฐาน สำนักที่มีชื่อเสียงมากมีครูอาจารย์และนักเรียนจำนวนมาก ได้แก่สำนักวัดเวฬุวัน บ้านไผ่ใหญ่ บ้านเค็งใหญ่ บ้านหนองหลัก และบ้านสร้างถ่อ

     ในแคว้นแดนอิสานทั้ง 15 จังหวัดในสมัยโบราณ ถ้าบุคคลใดต้องการความรู้ จะต้องเดินทางไปศึกษาตามสำนักดังกล่าว การเรียนมูลกัจจายนั้นเป็นการเรียนที่ค่อนข้างยาก ผู้เรียนจะต้องมีสมองที่ดี สามารถเรียนได้จบหลักสูตรซึ่งจะได้รับการยกย่องนับถือจากคนทั่วไปว่าเป็นนักปราชญ์ เพราะเป็นผู้แตกฉานในทางสามารถแปลหนังสือได้ทุกชนิด

     ต่อมาภายหลังสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเห็นว่าการเรียนมูลกัจจายน์นั้นยากเกินไป มีผู้เรียนจบหลักสูตรน้อย และต้องเสียเวลาในการเรียนนานเกินความจำเป็น จึงทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนเสียใหม่ ซึ่งได้ใช้เป็นหลักสูตรของการศึกษาฝ่ายคณะสงฆ์มาจนถึงปัจจุบัน นับแต่นั้นเป็นต้นมาการเรียนมูลกัจจายน์ จึงได้ถูกลืมไปจากวงการศึกษาของคณะสงฆ์จนทุกวันนี้

     จากการเล่าของ หลวงปู่แหวน ว่า การเรียนในสมัยนั้นไม่มีห้องเรียนเหมือนสมัยปัจจุบัน อาจารย์ที่สอนไม่ได้อยู่ในที่แห่งเดียวกัน แต่จะแยกอยู่คนละที่ดังนั้นเมื่อถึงเวลาเรียนนักเรียนจะต้องแบกหนังสือไปเรียนกับอาจารย์ถึงที่อยู่ของอาจารย์ วันนี้เรียนวิชานี้ก็แบกหนังสือไปเรียนกับอาจารย์นี้ วันพรุ่งนี้เรียนวิชานั้นก็จะต้องแบกหนังสือไปเรียนกับอาจารย์นั้น แบกไปแบกมาอยู่เช่นนี้จนกว่าจะเรียนจบ ที่ว่าแบกหนังสือนั้นแบกกันจริงๆ เพราะในสมัยก่อนหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่มยังไม่มีเช่นปัจจุบันนี้ หนังสือที่ใช้ในการเรียนการสอนใช้คัมภีร์ใบลานเป็นพื้น นักเรียนต้องเคารพหนังสือ เพราะถือว่าเป็นพระธรรมจะดูถูกไม่ได้ถือเป็นบาป เวลาว่างจากการเรียน นักเรียนจะต้องเข้าป่าหาใบลานมาไว้สำหรับทำคัมภีร์เพื่อฝึกหัดจารหนังสือ วิธีทำคัมภีร์ก็คือไปหาใบลานมา เลือกเอาเฉพาะใบที่อายุได้ปีหนึ่งแล้ว ถ้าเอาใบอ่อนมามักใช้ไม่ได้ดีเท่าที่ควร แต่ถ้าเอาใบแก่เกินไป ใบมักเปราะแตกง่าย เมื่อหามาได้แล้วก็เอามากรีดริดใบและก้านใบออก ตากน้ำค้างไว้สามคืนพอหมาด แล้วจึงใช้ด้ายหรือเชือกร้อยทำเป็นผูกๆ มากน้อยแล้วแต่จะทำ เวลาไปเรียนกับอาจารย์ก็ใช้คัมภีร์นี้เองคัดลอกตำรับตำราตลอดจนหัดจารหนังสือพร้อมกันไปด้วย

     เพื่อนๆ ที่เรียนหนังสือด้วยกันสมัยนั้นเท่าที่จำได้มี พระเฮียง พระเหลา ภายหลังทั้งสองได้ลาสิกขาไปหมด สำหรับอาจารย์ที่สอนนั้นเท่าที่จำได้มีดังนี้
     พระอาจารย์เอี่ยม วัดเวฬุวัน บ้านไผ่ใหญ่ สอนวิชามูลกัจจายน์
     พระอาจารย์ชม เป็นคนใจเย็น เวลาสอนหนังสือก็ใจเย็น ทำให้ลูกศิษย์ชอบมาก
     พระอาจารย์ชาลี เวลาสอนหนังสือจะดุมาก แต่แปลได้พิสดารเพราะเคยลงไปศึกษาอยู่กรุงเทพฯ นานถึง 10 ปี


     พระอาจารย์อ้วน สอนไวยากรณ์ สอนแปลโดยแบ่งพระคัมภีร์ พระปาฏิโมกข์เป็นพื้น แปลกันคล่องแคล่วจนขึ้นใจ หลวงปู่เล่าว่าท่านเองไม่เคยท่องปาฏิโมกข์ แต่ท่านสามารถยกสิกขาบทขึ้นมาแปลได้อย่างคล่องแคล่วโดยไม่ติดขัด

     ขณะที่กำลังเรียนหนังสืออยู่นั้น ท่านมีอายุครบบวชจึงได้อุปสมบท ในสีมาวัดบ้านสร้างถ่อนั้นเอง โดยมีท่านพระอาจารย์แว่นเป็นพระอุปัชฌาย์ สำหรับกรรมวาจาจารย์และอนุสาวนาจารย์นั้นไม่ปรากฏชื่อ

     ระหว่างกำลังเรียนท่านอาจารย์อ้วนและอาจารย์เอี่ยมได้อาพาธด้วยโรคนอนไม่หลับ หมอทั้งหลายช่วยรักษาอย่างไรก็ไม่หาย หลวงปู่แหวน ซึ่งไปเฝ้าพยาบาลได้แนะนำให้อาจารย์เปลี่ยนเพศเสีย บางทีโรคอาจหายได้ และหากยังมีความอาลัยในสมณเพศอยู่ค่อยกลับมาบวชใหม่ อาจารย์ก็ทำตาม ปรากฏว่าโลกหายดีและได้มีครอบครัวในที่สุด 


    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น